ทำความรู้จัก “PrEP” และ “PEP” ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่มีชื่อคล้ายกัน แต่ทำหน้าที่ป้องกันแตกต่างกัน ใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน และมีความสำคัญอย่างมาก
สำหรับคนที่มีผลเลือดลบหรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ รวมถึงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะติดต่อขอรับยาได้ที่ใด ปัจจุบัน สถานการณ์ของการติดเชื้อ “เอชไอวี” (HIV) และ “โรคเอดส์” (AIDS) ไม่น่ากลัวเหมือนกับในยุคก่อนที่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และไม่มีวิธีการป้องกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคและอาการของผู้ติดเชื้อ เพราะด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าส่งผลให้สามารถหาวิธีการยับยั้งไม่ให้เชื้อ HIV ลุกลาม และป้องกันไม่ให้ส่งต่อการติดเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้อย่างปรกติ คนในสังคมมีความรู้มากขึ้น จนแทบไม่เหลือการตีตราทางสังคมอีกต่อไป
สำหรับวิธีการป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพนอกจากการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่เข็มฉีดยา มีดโกนร่วมกับผู้อื่นแล้ว ยังมีอีกทางเลือกที่ได้ผลอย่างมากและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ “วิธีการรักษาด้วยการรับยาต้าน” (Antiretroviral Therapy) หรือที่เรามักจะคุ้นหูกันว่า “ยาต้าน” ซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิดคือ “PrEP” และ “PEP” ด้วยชื่อที่มีความใกล้เคียงกันทำให้หลายคนอาจเกิดความสับสนและเข้าใจว่ามันคือยาชนิดเดียวกัน ความจริงแล้วยาทั้ง 2 ชนิดนี้ แม้ว่าจะทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อเหมือนกัน แต่ใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน
จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลีนิคนิรนาม) หน่วยงานให้บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และตรวจหาเชื้อ HIV โดยสมัครใจแก่ประชาชนทั่วไปและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้ระบุว่าทั้งยา PrEP และ PEP นั้นเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อ HIV ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งยาทั้ง 2 ประเภท มีข้อแตกต่างกันดังนี้
PrEP หรือ เพร็พ
PrEP หรือ เพร็พ ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis เป็นยาใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค (มีเพศสัมพันธ์) โดยต้องรับประทานยาเป็นประจำครั้งละ 1 เม็ด และต้องรับประทานในเวลาเดียวกันในทุก ๆ วัน โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้เกือบ 100%
ทั้งนี้ PrEP ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โดยยาชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง ได้แก่
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา และ ผู้ที่มาขอรับยา Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
สำหรับผู้ที่ต้องการรับยา PrEP จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับยา และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ HIV การทำงานของตับและไต และจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากที่ได้รับยา PrEP จากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน ทั้งนี้หากผู้รับยามีความประสงค์ต้องการหยุดยา จะต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง