รู้ทันภัย ‘ล่วงละเมิดทางเพศเด็กเล็ก’ อย่าคิดว่าไม่มีฮอร์โมนแล้วจะรอด!

เด็ก

รู้ทันภัย ‘ล่วงละเมิดทางเพศเด็กเล็ก’ อย่าคิดว่าไม่มีฮอร์โมนแล้วจะรอด!

เด็ก
ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งกับประเด็น ‘ความรุนแรงทางเพศ’ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ประสบการณ์ชีวิตน้อย เมื่อพลาดพลั่งถูกกระทำไป อาจทำให้เกิดบาดแผลยาวนานไปตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและรู้ได้ ในงานประชุมวิชาการ หัวข้อ “การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเล็ก : ผู้ใหญ่ต้องปกป้อง เด็กต้องเรียนรู้” จัดโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โดย งามตา รอดสนใจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการเครือข่าย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เกริ่นว่า ปัจจุบันเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเด็กอยู่ตลอด มีผู้เสียหายที่เป็นทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เหตุเกิดในสถานที่ที่ทุกคนคิดว่าจะปลอดภัยคือ โรงเรียน โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดเด็ก บางเคสเป็นผู้อยู่ในบ้านเดียวกับเด็กด้วยซ้ำ ทำให้เด็กไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ร่างกาย และบุคลิกภาพเด็กอย่างต่อเนื่องไปจนเติบโต ฉะนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และครูที่ดูแลเด็ก จะต้องรู้วิธีปกป้อง และสอนเด็กให้เรียนรู้การป้องกันตัว ภายในงานชวนตระหนักถึงพิษภัยความรุนแรงทางเพศในเด็กเล็ก ไม่ได้ส่งผลเพียงร่องรอยบอบช้ำตามร่างกายที่ตาเห็น แต่ยังฝั่งลึกในสมองที่กำลังเติบโต เป็นความทรงจำอันเลวร้าย และอาจเปลี่ยนคนๆ นึงไปตลอดกาล ผศ.พญ.พลิศรา ธรรมโชติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กับเรื่องทั่วไปในความทรงจำ จะจำได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นวันที่เท่าไหร่ อธิบายได้ แต่กับเรื่องบาดแผลทางจิตใจ จะเป็นความทรงจำที่มีส่วนผสมหลายอย่างรวมกัน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ซึ่งไม่แปรเปลี่ยนแม้เวลาจะผ่านไป คนไข้บางคนเรื่องราวผ่านไปกว่า 40 ปี ก็ยังจำได้แม่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอน 6 ขวบ โดยบาดแผลทางจิตใจ มีผลต่อประสาทสัมผัส อารมณ์ และความคิด เช่น มีอารมณ์เศร้า มีความคิดมองโลกในแง่ลบ รู้สึกไม่ไว้วางใจ ตลอดจนยังมีประสาทสัมผัสที่ยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่เลย อย่างเคยเจอเคสเด็กถูกพ่อบังคับกินอาหารแมว แล้ววันหนึ่งต้องไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ต เพียงกลิ่นอาหารแมว ความทรงจำที่มีต่อพ่อก็ผุดขึ้นมาทันที ทำให้รู้สึกกลัว ใจสั่น และตกใจ